คิดค้นการสร้าง “ถนน” จาก “พลาสติก” ดีกว่ายางมะตอยปกติถึง 30เปอร์เซ็นต์
เรียกได้ว่าเป็นการใช้ความรู้และความสามารถ ที่นำมาพัฒนาเทคโนโลยีได้นำเสนอการสร้างถนนรีไซเคิล ที่จัดทำโดยขยะพลาสติก นำมาสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มและเกิดประโยชน์ที่มากมาย
อบต.อ่าวนาง จัดกิจกรรมโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยี การบล็อกปูถนนรีไซเคิลจากเศษขยะภายในชุมชนเพื่อเป็นการแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่มีอยู่ในชุมชนให้ลดลงไปอย่างมากมีศาสตราจารย์ดร.เวชสวรรค์ หล้ากาศ และคณะ ร่วมกันถ่ายทอดความรู้ โดยมี นายวิเชษฐ์ ขวัญข้าว ปลัด อบต.อ่าวนาง นายสุพจน์ ชดช้อย รักษาการ ผอ.กองสาธารณสุข อบต.อ่าวนาง พร้อมด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน และพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมในโครงการนี้
ศาสตราจารย์ ดร.เวชสวรรค์ หล้ากาศ เปิดเผยว่า การทำบล็อกปูถนน โดยใช้ขยะพลาสติก ซึ่งนำไปย่อยเป็นชิ้นเล็กๆ ผสมกับทราย ในอัตรา 1:3 ผ่านกรรมวิธี หรือคั่วทรายในกระทะให้ร้อน
แล้วเทขยะพลาสติกใส่ลงไปในกระทะ แล้วคนให้เข้ากัน เทลงแบบพิมพ์ ใช้ค้อนตีให้แน่น ทิ้งไว้ให้เย็นแล้วถอดแบบบล็อกออก นำไปปูพื้นใช้งานได้ตามปกติ โดยบล็อก 1 ก้อน ใช้ขยะถุงพลาสติก 100 ใบ บล็อก 1 ตร.ม. มี 40 ก้อน บล็อก 1 ตร.ม.ใช้ถุงขยะพลาสติก 4,000 ใบ
ทั้งนี้ทั้งนั้นการที่ได้นำขยะต่างๆมาสร้างให้เป็นถนนรีไซเคิล จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ และคาดว่าจะสามารถช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกในชุมชนได้เป็นจำนวนมาก โดยในวันนี้ทางด้านของคณะนักวิจัยได้มีการสาธิตวิธีการจัดทำบล็อกรีไซเคิลที่ได้จากขยะพลาสติก พร้อมกับถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดทำบล็อกให้แก่ผู้ที่สนใจ เพื่อเป็นการนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดและเป็นแนวทางการขยายผล ที่จะสามารถช่วยลดปริมาณขยะประเภทพลาสติก อีกทั้งยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากอีกด้วย
สำหรับผลการทดสอบโดยภาควิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผลการทดสอบ Asphalt concrete ที่ผสมพลาสติกด้วยวิธี dry process และพบว่ามีผลทดสอบความสามารถในการรับแรงดีขึ้น (Marshall stability) 15-30%
คุณสมบัติและประโยชน์ของการนำพลาสติกมาเป็นส่วนผสมในการสร้างถนนเช่นนี้ นอกจากทำให้ถนนมีความคงทนแข็งแรงเพิ่มขึ้น และช่วยต้านทานการกัดเซาะของน้ำได้ดียิ่งขึ้น ยังช่วยลดปริมาณการใช้ยางมะตอยในการสร้างถนน ลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตยางมะตอย
เป็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณขยะพลาสติกและเพิ่มคุณค่าให้กับพลาสติกอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : workpointnews